บทความ

10.02.2565

เทคโนโลยี AR VR เพื่องานอุตสาหกรรม หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ EECi

เทคโนโลยี AR VR เพื่องานอุตสาหกรรม หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ EECi 

ในยุคที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านธุรกิจการตลาด การติดต่อสื่อสาร ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ซึ่ง Metaverse กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยี ‘AR’ และ ‘VR’ เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง เพราะเริ่มมีบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น Facebook, Microsoft, Google, Apple หันมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้บวกกับในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ระบาด Metaverse หรือ ‘โลกเสมือน’ กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

วังจันทร์วัลเลย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน New S-Curve ที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ EECi เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตด้วยนวัตกรรม

เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) คือ เทคโนโลยีที่จำลองวัตถุเสมือนในรูปแบบสามมิติให้แสดงผลซ้อนทับกับภาพในโลกความเป็นจริงผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น จอภาพ หรือสมาร์ทโฟน ทำให้เรามองเห็นภาพเสมือนที่เกิดเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ในสถานที่แห่งนั้นนั่นเอง ส่วนเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) คือ เทคโนโลยีที่มีการจำลองสถานที่เสมือนจริงขึ้นมาในรูปแบบ 360 องศา ซึ่งต้องใช้ร่วมกับแว่นตา VR เมื่อสวมใส่แล้วจะให้ความรู้สึกราวกับว่าเราได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนแห่งนั้น โดยตัดขาดจากบริบทของโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการมองเห็น ได้ยิน สัมผัส หรือการรับรู้ด้วยกลิ่น และยังทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งจำลองนั้น ๆ ผ่านอุปกรณ์ อาทิ ถุงมือ เม้าส์ รองเท้า รีโมท หรือปุ่มบังคับ ได้อีกด้วย

แม้ว่าก่อนหน้านี้ เทคโนโลยี AR และ VR จะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการเกม แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปดัดแปลงและใช้ประโยชน์ได้อีกมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค COVID-19 ที่เราต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง Social Distancing จึงทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยี AR และ VR ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคการศึกษาที่มีสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และตอบสนองกับครูผู้สอนจากที่บ้านได้ ภาคธุรกิจที่ทำให้การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น อย่างการซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ที่มีการสร้างภาพ AR ให้เราได้ทดลองเพื่อเปรียบเทียบสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อของชิ้นนั้น และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ก็คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ ที่มีการใช้ VR ช่วยให้แพทย์สามารถศัลยกรรมทางไกล หรือวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ในทันที โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องออกเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด และนอกจากนี้ เทคโนโลยี AR และ VR ยังมีประโยชน์และบทบาทสำคัญในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อย่างเช่น การท่องเที่ยวผ่าน AR และ VR ที่กำลังได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสอดรับกับวิถีชีวิตใหม่แบบ Next Normal ที่กำลังเกิดขึ้น

จากข้อมูลของ IDC (International Data Corporation) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2019-2024 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) จะมีการลงทุนด้าน VR และ AR เติบโตเฉลี่ยถึง 47.7% ต่อปี ซึ่งในปี 2024 มูลค่ารวมของตลาดจะอยู่ที่ 28,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงกระตุ้นมาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วยการประยุกต์ใช้ให้เกิดบริการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ร่วมกับ AR และ VR, mobility AR, AR cloud และการจัด Virtual Event โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาผสานเข้ากับการขยายตัวของเทคโนโลยี 5G ก็จะยิ่งเกิดประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหลากหลายภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกับพื้นที่ EECi ของวังจันทร์วัลเลย์ ที่มีการนำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ต่อยอดในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น นวัตกรรมการเกษตร, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่, การบินและอวกาศ รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ EECi ยังพร้อมเปิดพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน” หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) เพื่อใช้เป็นศูนย์สาธิตด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (SI) นวัตกร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้วยฝีมือคนไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจไทยให้เกิดเป็น New S-Curve และก้าวไกลไปสู่ Thailand 4.0

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญในการผลักดันอนาคตเศรษฐกิจของไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นเมืองต้นแบบและแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของเอเชีย “วังจันทร์วัลเลย์” พร้อมแล้วที่จะเปิดพื้นที่แห่งโอกาสเพื่อต้อนรับนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์เช่นคุณ ให้เข้ามาร่วมลงทุนและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ ที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวมากมายที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมอันสร้างสรรค์ บนทำเลศักยภาพในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

สำหรับนักลงทุนที่สนใจมาร่วมใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย และสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย

มาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกันกับเรา ที่ "วังจันทร์วัลเลย์"