บทความ

24.06.2564

“EECi” ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่บนพื้นที่ EEC

“EECi” ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่บนพื้นที่ EEC

เมื่อเอ่ยถึง EEC (Eastern Economic Corridor) หลายคนคงรู้จักดีว่านี่คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง และด้วยการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และอีกหลายด้าน เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0

เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศไทย 4.0 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดตั้งโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ในโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่จะส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแบบครบวงจรระหว่างภาครัฐ เอกชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่

“โครงการวังจันทร์วัลเลย์” ถูกพัฒนาขึ้นโดย ปตท. ซึ่งได้ทำการออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานตามหลักการ Smart City Concept เพื่อให้สามารถรองรับการวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น
• พื้นที่รองรับการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups and Innovation Center)
• แหล่งรวมศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure)
• โครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research Infrastructure) เช่น โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โรงงานสาธิต (Demonstration Plant) และพื้นที่ทดลองผลิตและพื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab) เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในวังจันทร์วัลเลย์ยังมีพื้นที่พักอาศัย สถานที่พบปะสังสรรค์ สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียว โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ ร้านค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ เพื่อรองรับคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีของนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม นักธุรกิจและผู้มาเยี่ยมชมโครงการทั้งไทยและต่างประเทศ

ด้วยศักยภาพรอบด้านเหล่านี้จึงทำให้วังจันทร์วัลเลย์ พร้อมก้าวสู่การเป็น “เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต” ที่จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอันใกล้

EECi มีวัตถุประสงค์ที่จะดึง 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industry) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาในพื้นที่ EECi ซึ่งจะมีบทบาทสําคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ด้านต่าง ๆ ดังนี้
• อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่

• อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
• อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ
• อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
• อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ
• อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำให้ วังจันทร์วัลเลย์ กลายเป็นกลไกการขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ EECi พร้อมก้าวสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของไทยที่โดดเด่นและเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของอาเซียน ที่ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน