บทความ

17.06.2564

“ต้นแบบของ Smart City 7 สิ่งอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์”

“ต้นแบบของ Smart City 7 สิ่งอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์” 

นิยามคำว่า Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ หมายถึง เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยพยายามผลักดัน Smart City ให้เกิดขึ้นจริงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 และนโยบาย Thailand 4.0 โดย “วังจันทร์วัลเลย์” เป็นพื้นที่ที่มีองค์ประกอบในการพัฒนา Smart City ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้กำหนดไว้

นั่นคือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

ทั้งหมดนี้คือ 7 สิ่งอัจฉริยะของวังจันทร์วัลเลย์ ที่เตรียมความพร้อมสู่การเป็นต้นแบบเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของไทยและเอเชียตามที่ตั้งเป้าไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการบริหารจัดการตลอดจนการติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ เช่น การดูแลสภาพอากาศ การจัดการขยะให้เป็นศูนย์ รวมถึงการสร้างสรรค์ระบบนิเวศในพื้นที่สีเขียว

2. การบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งเน้นการให้บริการแบบ One stop service โดยเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบได้อย่างครบวงจรและสะดวกสบาย นอกจากนี้ยังมี Wangchan Valley Mobile Application เพื่อใช้ในการจองพื้นที่จอดรถล่วงหน้า การตรวจสอบเวลาที่รถ Shuttle Bus จะมาถึงแต่ละสถานี และการแจ้งเหตุฉุกเฉิน

3. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นเมืองที่ออกแบบระบบการสัญจรและการขนส่ง ให้มีความสะดวกปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาระบบนิเวศที่ดีของเมือง เช่น มีการส่งเสริมให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเมืองได้มีการจัดเตรียมที่จอดรถอัจฉริยะ แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เส้นทางเดินรถจักรยานไว้รองรับ

4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และมีการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่าย Smart Grid ตลอดจน Solar Farm เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ผลักดันให้เกิดการทดลองและทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และมีการพัฒนาระบบ City Data Platform เพื่อต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น โครงข่าย 5G สัญญาณ Wi-Fi 6 รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลของเมือง (Data Analytics)

6. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ออกแบบเพื่อการมีชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย ทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม

7. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสัญญาณ Wi-Fi ที่ครอบคลุมทั้งโครงการวังจันทร์วัลเลย์ การเรียนรู้ผ่านห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น