บทความ

07.10.2564

“อัปเกรดขยะสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจด้วยฝีมือคนไทย”

อัปเกรดขยะสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจด้วยฝีมือคนไทย

เมื่อ Food Waste คือหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อน... เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไปพร้อมกัน

“ขยะอินทรีย์” (Food Waste) ที่เกิดจากเศษอาหารที่ถูกทิ้งตั้งแต่ต้นทางการผลิตในฟาร์ม ไปจนถึงปลายทางการขนส่ง-จัดจำหน่าย จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8% ของจำนวนก๊าซทั้งหมดในชั้นบรรยากาศ และตัวเลขดังกล่าวอาจสูงขึ้นเป็น 10% จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกปล่อยออกมา เนื่องจากปริมาณขยะอาหารที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีและยังเป็นขยะที่ทุกคนใส่ใจน้อยที่สุด มองดูไร้ประโยชน์ และมูลค่าต่ำ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการแยกขยะเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้ว Food Waste สามารถเปลี่ยนเป็นประโยชน์ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ในประเทศไทยมีขยะอินทรีย์ (Food Waste) มากถึง 74,998 ตันต่อวัน หรือเทียบเท่ากับรถบรรทุก 4,000 คัน ใน 1 ปีมีขยะมากถึง 27.37 ล้านตันต่อปี ขยะอินทรีย์ที่ทุกบ้านทุกครัวเรือนได้สร้างมา เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ และอื่น ๆ โดยเปลี่ยนขยะ 1 ตัน ให้กลายเป็นสารที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000-100,000 บาท ทั้งหมดนี้สามารถเปลี่ยนเป็นสารที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,300 ล้านบาท จากผลงานวิจัยนวัตกรรมฝีมือของคนไทยในโครงการที่ชื่อว่า “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS : Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) โดยทีมวิจัยและนิสิตนักศึกษาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS) เกิดขึ้นจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต มีปริมาณหลุมขยะเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเต็มอย่างรวดเร็วในเวลาอีกไม่นาน นักวิจัยจึงสร้างสรรค์เทคโนโลยีชีวภาพแบบบูรณาการ ใช้ความรู้ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เข้ามาสนับสนุนแนวทางสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้ประเทศไทยเป็น “สังคมไร้ขยะ” โดยเปลี่ยนขยะอินทรีย์ เศษอาหารจากครัวเรือน และในชุมชนต่างๆ รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีมูลค่าสูงอย่างคาดไม่ถึง

การแปรรูปขยะอินทรีย์ จะถูกนำมาผ่านกระบวนการย่อยสลายในสภาวะไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ช่วยลดของเสียและสร้างพลังงานเชื้อเพลิง รวมถึงปุ๋ยและปุ๋ยหมัก ผลพลอยจากกระบวนการดังกล่าว ที่สำคัญคือ กระบวนการเหล่านี้ไม่สร้างมลพิษก๊าซเรือนกระจกต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนและระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน ในขั้นตอนของวิศวกรรมกระบวนการ (Process Engineering) เป็นเทคโนโลยีการหมักและย่อยขยะอินทรีย์ด้วยพลังของ เอนไซม์ (Enzyme) ด้วยการให้จุลินทรีย์ทำงานร่วมกับเครื่องย่อยสลายขยะอินทรีย์ที่มีความสามารถในการควบคุมสภาวะของสารจุลินทรีย์ให้ทำงานย่อยสลายเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไร้กลิ่นเหม็นและเชื้อรา สามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน โดยใช้เวลา 12 ชั่วโมงในการย่อยสลาย เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ และปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงในเวลาอันสั้น

สำหรับเชื้อเพลิงที่ได้จากขยะอินทรีย์ ยังนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ที่มาจากหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตก๊าซมีเทน (Methane) ที่มีความเข้มข้น 50-60% ที่ใช้เวลา 4-7 วัน หากใช้เวลา 7-10 วัน จะได้ก๊าซมีเทนที่มีความเข้มข้นสูงถึง 70-80%

“สารบำรุงพืชชีวภาพ BioVis” เป็นการนำขยะมาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดเป็นธุรกิจ ที่โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS) ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบำรุงพืชให้เจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังช่วยให้มีผลผลิตมากขึ้น โดยมีการนำ BioVis มาใช้งานจริงที่ชุมชนในจังหวัดน่าน และได้การตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอีกด้วย

ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาโครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS) อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย ในการแปรรูปขยะอินทรีย์ในประเทศไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร และก๊าซหุ้งต้มในครัวเรือน อีกทั้งช่วยลดปัญหาเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ในประเทศ พร้อมเปลี่ยนประเทศไทยเข้าสู่ Zero Waste ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หากคุณเป็น Startup ที่เต็มเปี่ยมด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ที่พร้อมจะพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม “วังจันทร์วัลเลย์” ซึ่งเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่พร้อมให้การสนับสนุนทั้งแรงบันดาลใจและการใช้ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ พร้อมด้วยพื้นที่ Sandbox ที่พร้อมจะผลักดันธุรกิจของคุณให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน