บทความ

03.02.2565

หลักการปลูกป่า ตามแนวคิด Miyawaki ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์วัลเลย์

หลักการปลูกป่า ตามแนวคิด Miyawaki ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์วัลเลย์

คำกล่าวที่ว่า “ป่าไม้ธรรมชาติเปรียบดังแหล่งกำเนิดสรรพสิ่งของโลก” ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดสวยหรู แต่นี้คือเรื่องจริงที่ธรรมชาติได้ช่วยทุกชีวิตบนโลกให้มีอากาศบริสุทธิ์ และเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งเราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่มีข้อสงสัย คำถาม คือ หากเรามีพื้นที่น้อย แล้วเราจะปลูกต้นไม้ได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้ คือ แนวคิดทฤษฎี “มิยาวากิ” ปลูกป่าได้ในพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร

มิยาวากิ” แนวคิดการปลูกป่าบนพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร คิดค้นโดย ศ.ดร.อากิระ มิยาวากิ (Akira Miyawaki) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยานานาชาติประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวังจันทร์วัลเลย์ได้มองเห็นความสำคัญของระบบนิเวศธรรมชาติพร้อมต่อยอดด้วยการนำแนวคิดมิยาวากิมาผสานร่วมกับองค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ทำให้เกิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์”

ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์” ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 351.35 ไร่ ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดการป่าแบบครบวงจร ตั้งแต่องค์ความรู้ การสาธิต และวิจัยการฟื้นฟูป่าหลากหลายรูปแบบซึ่งทฤษฎีการปลูกป่าเลียนแบบระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้นถูกยอมรับและถูกนำไปปฏิบัติทั่วโลก โดยมีสถิติอัตราการรอดชีวิตของต้นไม้สูงถึง 90% ต่อพื้นที่การปลูก 1 ตารางเมตร

การปลูกป่าตามแนวคิดดังกล่าวจะเลือกปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากหลายประเภทเช่น ไม้ยืนต้น (Tree) ไม้พุ่ม (Shrub) และไม้พื้นล่าง หรือพืชคลุมดิน (Herb)  โดยจะเลือกใช้ไม้ที่เพาะมาจากเมล็ด เนื่องจากจะมีรากที่แข็งแรง โดยวิธีการนี้จะปลูกต้นไม้จำนวน 4 ต้นต่อตารางเมตร อย่างไม่มีรูปแบบ เพื่อทำให้ใกล้เคียงป่าไม้ธรรมชาติมากที่สุด ทั้งนี้จะต้องมีการนำเศษใบไม้หรือใบหญ้ามาคลุมหน้าดินไว้โดยไม่ต้องรดน้ำเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้เกิดเป็นปุ๋ยและเป็นการช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน 

พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในภาคตะวันออกไว้ในที่เดียว โดยพื้นที่ศูนย์ฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 

1. พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ : อาคาร 2 ชั้นที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายบ้านต้นไม้ ซึ่งในพื้นที่ของอาคารได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ โดยในส่วนของชั้นที่ 2 ของอาคาร คือ ส่วนต้อนรับและลงทะเบียนเยี่ยมชม ห้องวีดิทัศน์แนะนำโครงการ ห้องนิทรรศการด้านป่าไม้การปลูกป่าของ ปตท. ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ รวมถึงห้องสำนักงานและห้องประชุม ในส่วนชั้นที่ 1 ถูกจัดให้เป็นสวนแบบ Tropical แต่ก็จะมีการกันพื้นที่ไว้เป็นลานกิจกรรม และในส่วนของเส้นทางการศึกษาธรรมชาติภายนอกอาคาร (Outdoor) จะมีจุดการเรียนรู้ เช่น บ่อน้ำ แปลงปลูกผัก ห้องเรือนเพาะชำ เป็นต้น โดยเส้นทางมีความยาวถึง 2.5 กิโลเมตร

2. พื้นที่บ่อน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ : เป็นพื้นที่ที่มีการออกแบบเส้นทางการไหลของน้ำผิวดิน โดยมีการเก็บข้อมูลสถิติปริมาณน้ำฝนช่วง 30 ปีมาใช้ประกอบการออกแบบ เช่น การใช้หินสร้างฝายแม้วบริเวณพื้นที่ปลูกป่า การใช้ร่องน้ำตามธรรมชาติ และการออกแบบการสร้างอาคารรับน้ำที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบ่อน้ำ ซึ่งระบบการจัดการน้ำดังกล่าวนั้นสามารถผันน้ำได้ 10% ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับแปลงปลูกป่าและพื้นที่อื่น ๆ ในโครงการทุกแปลงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยที่ทั้งหมดนี้ช่วยให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์และฟื้นตัวขึ้นมาได้ รวมถึงสัตว์นานาชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุล

3. พื้นที่ป่าปลูก : สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศของ ปตท. ร่วมมือกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาพื้นที่ขนาด 219 ไร่ ให้เป็นต้นแบบ โดยมีการแบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 3 โซน เพื่อศึกษาถึงวิธีและแนวทางในการฟื้นฟูป่า ดังนี้ 
     1. พื้นที่ป่าคาร์บอนต้นแบบ (Forest Carbon Model Zone) พื้นที่นี้ถูกปลูกขึ้นมาเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ในอนาคตป่าแห่งนี้จะเป็นป่าคาร์บอนต้นแบบในการศึกษาและวิจัยให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจสร้างป่าคาร์บอน และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า พื้นที่ป่าแห่งนี้จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
     2. พื้นที่ฟื้นฟูป่าธรรมชาติและมหัศจรรย์พันธุ์ไม้ (Forest Restoration Zone and Miracle of Plant) เป็นพื้นที่การสาธิตการปลูกป่า เพื่อเลียนแบบป่าไม้ธรรมชาติ และมีความพิเศษในเรื่องการเร่งการเติบโต 
     3. พื้นที่วิจัยรูปแบบการปลูกฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Research Zone) โดยพื้นที่นี้มุ่งเน้นการสร้างแปลงสาธิตโมเดลป่าไม้หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้รับความรู้ 

อีกทั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เพียงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า แต่ยังส่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน และสังคมโดยรอบผ่านโครงการต่าง ๆ ของวังจันทร์วัลเลย์ ที่จะช่วยให้ชุมชนมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านอาชีพ สุขภาพกายและใจ เช่น โครงการอาหารปลอดภัย Clean Food Green Goods และโครงการ “วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน” โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวมีการทำงานร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ในการจัดอบรมหลักสูตรการทำอาหารคาว หวาน และงานจัดเลี้ยง แก่คนในชุมชนตำบลป่ายุบใน โดย ปตท. สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยงในชื่อ “ป่ายุบในแคทเทอริ่ง” เพื่อให้คนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ได้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่สะอาดและมีคุณภาพ 

ในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 75 ครัวเรือน และอีก 3 โรงเรียน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ตำบลป่ายุบใน นอกจากผักที่ปลูกในครัวเรือนสามารถสร้างรายได้เสริม ในโครงการ “ผักวังจันทร์” โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station อ.วังจันทร์ จ.ระยอง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญในอนุรักษ์ รักษาธรรมตามและสิ่งแวดล้อมของไทย อยากที่จะเรียนรู้การปลูกป่าตามแนวคิด “มิยาวากิ” ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์วัลเลย์  “วังจันทร์วัลเลย์” พร้อมแล้วที่จะเปิดพื้นที่แห่งโอกาสเพื่อต้อนรับนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์เช่นคุณ ให้เข้ามาร่วมลงทุนและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ ที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวมากมายที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมอันสร้างสรรค์ บนทำเลศักยภาพในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจมาร่วมใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย และสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย

มาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกันกับเรา ที่ “วังจันทร์วัลเลย์