บทความ

10.06.2564

“วังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต”

“วังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต”

ในยุคที่ทุกสิ่งรอบตัวขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ดังเช่นในหลาย ๆ ประเทศที่เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศได้อย่างมีศักยภาพ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ฟินแลนด์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ที่มี Silicon Valley ที่เรียกได้ว่าเป็น “เมืองนวัตกรรม” ระดับตำนาน ที่บ่มเพาะบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกอย่าง Microsoft, Google, Facebook และอีกมากมาย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยหุบเขา Santa Clara Valley

เช่นเดียวกับ “วังจันทร์วัลเลย์” โครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะของ ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวของหุบเขา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Engines of Growth ตามเป้าหมายของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการพลิกโฉมหน้าประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม

ด้วยความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่ได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การวิจัย การพัฒนา ไปจนถึงการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิต พร้อมทั้งองค์ประกอบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart People ทำให้วังจันทร์วัลเลย์พร้อมที่จะพัฒนาก้าวสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรมต้นแบบอันดับหนึ่งของไทยและเอเชียได้อย่างสมบูรณ์แบบ

วังจันทร์วัลเลย์ ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนประกอบหลักตามคอนเซ็ปต์ Smart Natural Innovation Platform

1) พื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone) สำหรับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งนักวิจัยให้เข้มแข็ง โดยเป็นพื้นที่ตั้งของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ (Wangchan Forest Learning Center)

2) พื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) โดยมีพันธมิตรหลักคือ สวทช. ที่จะมาพัฒนาศูนย์วิจัยทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ เมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) เมืองนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOPOLIS) และ เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS)

3) พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ (Community Zone) เพียบพร้อมไปด้วยนวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้ชีวิต เช่น รถบัสอัจฉริยะไร้คนขับ การดูแลความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดที่จะส่งข้อมูลไปยังศูนย์กลางการควบคุมเพื่อการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ระบบสัญญาณ 5G และระบบ WiFi-6 เพื่ออำนวยความสะดวกและเชื่อมต่อทุกการทดลอง การวิจัยและการทำธุรกิจให้มีเสถียรภาพมากกว่าที่เคยมีมา เพื่อก้าวสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรมชั้นนำของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยองค์ประกอบสำคัญทั้งหมดเหล่านี้ จึงทำให้ “วังจันทร์วัลเลย์” เปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงด้านนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลแห่งศักยภาพของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวท่ามกลางหุบเขา เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็น Silicon Valley แห่งเมืองไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน