บทความ

17.03.2565

วังจันทร์วัลเลย์ อาณาจักรสตาร์ทอัพของนักลงทุนยุคใหม่กับเทคโนโลยีแห่งอนาคต by ลงทุนศาสตร์

วังจันทร์วัลเลย์ อาณาจักรสตาร์ทอัพของนักลงทุนยุคใหม่กับเทคโนโลยีแห่งอนาคต

เมื่อหลายสิบปีก่อน การเกิดขึ้นของสังคมยุคอุตสาหกรรมได้ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว มีบริษัทมากมายที่เติบโตขึ้นจากบริษัทขนาดเล็กไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีหลักแสนล้านบาท บริษัทเหล่านั้นส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอย่างเช่น ยานยนต์ พลังงาน ธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และใช้เวลานับสิบปีกว่าที่จะขยายกิจการจนเติบโตได้ในระดับโลก

แต่ยุคปัจจุบัน สังคมยุคอุตสาหกรรมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมยุคเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยีได้ขยายไปสู่ทุกอณูของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นับตั้งแต่ตื่นนอนที่นาฬิกาอัจฉริยะสามารถบอกได้ว่าเราใช้เวลาไปกับการนอนเท่าไหร่ จากนั้นเช็กข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย เดินทางไปทำงานด้วยแอปพลิเคชันเรียกรถ หรือบางคนอาจไม่ต้องเดินทางและทำงานออนไลน์ผ่านระบบออฟฟิศเสมือนจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วยแรงขับเคลื่อนแห่งเทคโนโลยี บริษัทยุคเก่าที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ก็ถูกแทนที่ด้วยบริษัทมากมายซึ่งเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม ที่แม้จะดำเนินธุรกิจมาไม่กี่ปี ก็สามารถมีรายได้ต่อปีนับแสนล้านหรือกระทั่งล้านล้านบาทได้

ดังนั้น ประเทศไหนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เศรษฐกิจก็ย่อมมีโอกาสไปได้ไกลกว่า สำหรับประเทศไทยเอง หากพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ในเมืองไทย จะพบว่ายังเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต่างพยายามสนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ ทำให้ตอนนี้บริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเองก็มีศักยภาพและเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีจนนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

และล่าสุด ประเทศไทยกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดโอกาสทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ นั่นคือโครงการพื้นที่พัฒนาวังจันทร์วัลเลย์

โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 3,454 ไร่ โดยเป็นโครงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อวางแผนพัฒนาและบริหารพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ขึ้นเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ถ้าจะเรียกง่าย ๆ ก็คือ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้บริษัทน้อยใหญ่เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

ภายในโครงการวังจันทร์วัลเลย์ จะแบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ ได้แก่ Education Zone พื้นที่เพื่อการเรียนรู้, Innovation Zone พื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, และ Community Zone พื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ 

แล้วพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์มีความสำคัญอย่างไรเมื่อเทียบกับพื้นที่เศรษฐกิจอื่น?

ในการเลือกพื้นที่เพื่อตั้งกิจการหรือประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการและนักลงทุนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญหลายอย่าง เช่น ใกล้แหล่งวัตถุดิบไหม การคมนาคมสะดวกไหม โครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างไร ฯลฯ สำหรับบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี จริงอยู่ว่าเทคโนโลยีบางส่วนสามารถใช้งานผ่านระบบออนไลน์ที่ไหนก็ได้ แต่ยังมีเทคโนโลยีอีกไม่น้อยเลยที่ยังไม่สะดวกนักหากจะใช้งานผ่านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปที่มีอยู่ อย่างการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับที่ไม่สามารถทดสอบบนพื้นที่ถนนจริงได้ หรืออินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูง

แต่สำหรับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ที่แห่งนี้เปรียบได้กับเมืองขนาดย่อม ๆ ที่มีโครงสร้างพื้นที่ฐานพร้อมสำหรับบริษัทแห่งเทคโนโลยีโดยเฉพาะ โดยวังจันทร์วัลเลย์จะมีบริการสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ต้องการเข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจ ด้วยบริการ 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

กลุ่มแรก คือ บริการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ที่มีภายในวังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ 

1) บริการพื้นที่ให้เช่าใน Innovation Zone เพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานต่าง ๆ รวมถึงศูนย์นวัตกรรมหรือสถานที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้วย นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวมนักวิจัยชั้นนำมากมายจาก สวทช., ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center), และพันธมิตรอื่น ซึ่งสามารถเป็นบุคลากรสำคัญให้กับบริษัทที่อยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ได้ในอนาคต

2) บริการ Smart Infrastructure Solution โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การสร้างสรรค์เทคโนโลยี จากพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์ บริการในกลุ่มนี้ประกอบด้วย บริการด้านพลังงานหมุนเวียน , บริการด้านระบบไฟฟ้า Smart Grid , บริการด้านพลังงาน Energy Storage (ESS) จาก GPSC, ระบบบริหารจัดการน้ำ จาก EAST WATER และระบบบริหารจัดการน้ำเสีย จาก WHAUP

3) บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับบุคลากรและครอบครัวจำนวนมากที่จะเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก ร้านค้าชุมชน โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าใช้บริการได้ 

บริการกลุ่มที่สอง บริการด้านนวัตกรรม (Innovation Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนใช้สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 

1) บริการประสานงานทางด้านธุรกิจนวัตกรรมใน Innovation Ecosystem ของโครงการ เป็นการแบ่งปันข้อมูลการวิจัยและพัฒนา หรือหาความร่วมมือทางธุรกิจต่าง ๆ ให้สามารถต่อยอดไปได้ไกลขึ้น

2) บริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม (R&D and Innovation Development Service) การพัฒนาเทคโนโลยีให้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดนั้นจำเป็นต้องอาศัยทั้งวัตถุดิบและบุคลากรที่มีความรู้จำนวนมาก ซึ่งภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์มีพันธมิตรที่มีพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูง โรงงานต้นแบบ ห้องทดลอง ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์จัดแสดง ไว้คอยให้บริการแก่ทุกธุรกิจอยู่เสมอ

3) บริการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยี Automation Robotics and Intelligence Systems นั่นคือระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ในตอนนี้มีตัวอย่างผู้ให้บริการในพื้นที่ ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบการแปลภาษา เทคโนโลยีทางการแพทย์, บริการ SMC Lab จาก สวทช. ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยี AI ยกระดับธุรกิจ เช่น ระบบการผลิตอัจฉริยะ ระบบเกษตรอัจฉริยะ และระบบ High Performance Computing

4) บริการพัฒนาบุคลากร อาจกล่าวได้ว่าทรัพยากรคนคือสิ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์จึงมีบริการพัฒนาบุคลากรจากสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สร้างบัณฑิตระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ทาง ปตท. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดให้มีบริการหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อต่อยอดทักษะเดิม และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในอนาคต

5) พื้นที่ทดสอบทดลองอากาศยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) ปัจจุบันโครงการได้ร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พัฒนาให้เป็นพื้นที่ทดสอบ ทดลองอากาศยานไร้คนขับแห่งแรกของประเทศ

6) บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม อย่างสัญญาณเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั้งโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากบางเทคโนโลยีจำเป็นต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

7) บริการพื้นที่ทดสอบทดลองยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

บริการทั้งหมดนี้เองที่ทำให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ การเริ่มต้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์เทคโนโลยีก็ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ หลาย ๆ ประเทศที่ในอดีตเคยอยู่ในยุคอุตสาหกรรมก็เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดหากมีพื้นที่หรือโครงสร้างพื้นฐานที่คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเทคโนโลยีที่คนทั่วโลกต่างรู้จักซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและเป็นแหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมายตั้งแต่หลายสิบปีก่อน เดิมทีซิลิคอนวัลเลย์ไม่ได้มีธุรกิจเข้าไปก่อตั้งมากนัก แต่เมื่อช่วงต้นของทศวรรษที่ 1910 กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้าไปตั้งศูนย์วิทยุกระจายเสียง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจ้างงานบุคลากรสายเทคโนโลยีเกิดขึ้น และจากนั้นไม่นานบริษัทคอมพิวเตอร์ยุคแรก ๆ อย่าง HP ก็เริ่มก่อตั้ง ตามมาด้วยบริษัทผลิตทรานซิสเตอร์ที่ต่อมากลายเป็นบริษัท Intel  

เมื่อเวลาผ่านไป ซิลิคอนวัลเลย์จึงมีบริษัทสายเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่มาแต่แรกเป็นดั่งแม่เหล็กที่คอยดึงดูดให้ผู้ประกอบการคนอื่น ๆ มาลงทุนเปิดกิจการในพื้นที่แห่งนี้ ยิ่งมีบริษัทเทคโนโลยีอยู่รวมกันมาก การวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพราะมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ข้อมูลแบ่งปันกันวันต่อวัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างระบบไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต หรือสถาบันการศึกษาที่พร้อมพัฒนาบุคลากรด้วย ทำให้ซิลิคอนวัลเลย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

หรือถ้าเป็นในแถบเอเชีย เมื่อก่อนนั้นประเทศจีนอาจไม่ได้มีชื่อเสียงนักในด้านการเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม เป็นเวลานานที่ประเทศจีนเป็นที่รู้จักในฐานะของประเทศผู้ผลิตสินค้าทั่วไปเป็นหลัก แต่เมื่อราว 40 ปีก่อน ผู้นำในเวลานั้นได้ประกาศให้เมืองเสิ่นเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่ พอถึงยุคปัจจุบัน เสิ่นเจิ้นกลายเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยีที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์อีกแห่งด้วยซ้ำไป พร้อมกับมูลค่า GDP จากที่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทเมื่อยุค 40 ปีก่อน กลายมาเป็นมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้เอง พื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนจึงมีความสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี ในตอนนี้หลาย ๆ บริษัทเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีกับกิจการของตัวเองมากขึ้นแล้ว แต่ลองนึกภาพต่อว่า หากถึงจุดหนึ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยมีบริษัทที่ทำด้านเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจไทยจะก้าวกระโดดได้ขนาดไหน

วังจันทร์วัลเลย์จึงเป็นก้าวใหญ่สำหรับประเทศไทยในยุค 4.0 ด้วยความที่วังจันทร์วัลเลย์เปรียบได้กับแหล่งรวมเทคโนโลยีชั้นนำและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี นักลงทุนหรือผู้ประกอบการจึงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้สะดวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในพื้นที่อื่น ด้วยบริการต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการด้านนวัตกรรม เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่พร้อมเหมือนวังจันทร์วัลเลย์

นอกจากนั้น นักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 17, สมาร์ทวีซ่าสำหรับบุคลากรและครอบครัว, รวมถึงข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการผ่อนปรนเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี

ถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการและนักลงทุน การที่ข้อจำกัดเหล่านี้ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นย่อมเป็นการจูงใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีกว่า เพราะบางครั้งแม้จะพัฒนานวัตกรรมบางอย่างได้ก็ไม่อาจทดสอบได้ในสภาพแวดล้อมแบบทั่วไป แต่สำหรับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถทำได้อย่างอิสระบนพื้นที่ที่กำหนดไว้ และหากติดปัญหาเรื่องทรัพยากรคน ที่นี่ก็มีบุคลากรคุณภาพมากมายให้ผู้ประกอบการได้ชักชวนเข้ามาทำงาน นอกจากนี้เรื่องภาษีก็เป็นแรงจูงใจที่สำคัญมาก ในช่วงแรกของการพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทนั้นอาจไม่มีกำไร หรือบางทีก็มีกำไรเล็กน้อยมาก ภาษีที่ประหยัดไปจะช่วยให้บริษัทนั้นเดินหน้าสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่อไปได้

ในปัจจุบัน วังจันทร์วัลเลย์ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานส่วนใหญ่เพื่อรองรับผู้ประกอบการไว้พร้อมเกือบหมดแล้ว และเริ่มมีบริษัทที่เข้าไปเช่าพื้นที่ด้วยบางส่วน เช่น ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, GPSC, WHAUP, EAST WATER อีกทั้งยังมีบริษัทพันธมิตรที่เข้ามาให้บริการในพื้นที่ร่วมกับวังจันทร์วัลเลย์ เช่น ARUNPLUS, AIS, TRUE, DTAC, กรมวิทยาศาสตร์บริการ  เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าลงทุนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://www.wangchanvalley.com , Call Center : 02-140-2424 หรืออีเมล info@wangchanvalley.com