บทความ

01.07.2564

“Sandbox เมืองไทย ที่ไม่ได้มีแค่ในหนัง”

“Sandbox เมืองไทย ที่ไม่ได้มีแค่ในหนัง”

หนึ่งในความใฝ่ฝันของผู้ประกอบการ Startup คือการได้มีพื้นที่ทดลองธุรกิจนวัตกรรมที่ตนเองพัฒนาขึ้นได้อย่างเสรีก่อนนำไปใช้จริง และไม่ติดข้อจำกัดของระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่มาควบคุมกรอบการทำงานและวิธีคิด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่านวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมานี้จะสามารถปรับปรุงหรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรในอนาคต ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า “Sandbox” และถ้าหากเคยดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Startup คงจะคุ้นหูกับคำว่า “Sandbox” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบเทคโนโลยีของเหล่า Startup ทั้งหลาย เสมือนเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับผู้มีไอเดียในการคิดค้นธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นเอง

ก้าวข้ามจากซีรีส์มาในโลกแห่งความจริงก็มี K-Startup องค์กรของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่พยายามลดอัตราการว่างงาน และพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่อีกศตวรรษแห่งความสำเร็จ โดยแนวทางคือการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีพรสวรรค์ในการสร้างธุรกิจ Startup รายใหม่ เพื่อเปลี่ยนให้เกาหลีใต้และ Pangyo Creative Economy Valley ที่เป็นชุมชนศูนย์รวม Startup ที่เป็นที่ตั้งขององค์กร ให้เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพของโลก ซึ่งในนั้นก็มี Pangyo Techno Valley ที่เรียกได้ว่าเป็น Silicon Valley ของเกาหลีใต้เลยทีเดียว

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีเมืองอัจฉริยะ “วังจันทร์วัลเลย์” เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของ ปตท. ที่เปรียบเสมือน Silicon Valley ของไทย ซึ่งเพียบพร้อมด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่รองรับทั้งการทำงาน การอยู่อาศัย การใช้ชีวิต ไปจนถึงพื้นที่ Sandbox เป็นสนามทดลองให้เหล่าสุดยอด Startup นักวิจัยและพัฒนา นวัตกรได้แสดงศักยภาพทดสอบนวัตกรรมของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยพื้นที่ Sandbox ของวังจันทร์วัลเลย์ เป็นการร่วมมือระหว่าง ปตท. และพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชนเพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ (Smart Innovation EcoSystem) ซึ่งสามารถทำการทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ เนื่องจากมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดในการพัฒนานวัตกรรมภายในพื้นที่ Sandbox แห่งนี้

โครงการที่ดำเนินการแล้วขณะนี้ คือ "UAV Regulatory Sandbox" ซึ่ง โครงการเกิดมาจากความร่วมมือระหว่าง ปตท. และพันธมิตร ดังนี้
o สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)
o สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
o สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
o สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)
o มหาวิทยาลัยบูรพา
o สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
o บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
o บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
o บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
o บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
o บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด
o บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด

จากความร่วมมือในครั้งนี้ทำให้ วังจันทร์วัลเลย์ มีความพร้อมในทุกด้านรวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีสัญญาณ 5G ให้บริการ สามารถสนับสนุนการทดสอบโดรนเพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจมากมาย เช่น Drone ดับเพลิง และ Delivery Drone ที่มีแผนที่จะทำการทดสอบในพื้นที่ Sandbox ของวังจันทร์วัลเลย์เช่นกัน

เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต มีความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทย โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองต้นแบบนวัตกรรมของเอเชียในอนาคต