บทความ

22.07.2564

“New S-Curve เพื่ออุตสาหกรรมมุ่งเป้าแห่งอนาคต”

“New S-Curve” เพื่ออุตสาหกรรมมุ่งเป้าแห่งอนาคต 

หนึ่งในเป้าหมายของวังจันทร์วัลเลย์คือการเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมสู่การเป็น New S-Curve เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ EECi

แล้ว New S-Curve คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศ?

New S-Curve คือ อุตสาหกรรมใหม่ แห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นกลไกที่สําคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ปตท. จึงได้เปิดพื้นที่ EECi ในวังจันทร์วัลเลย์เพื่อเป็นห้องแลปในการค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน New S-Curve โดยวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่สำหรับวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมมุ่งเป้าของ EECi ดังนี้

1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ

อุตสาหกรรมการเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมายาวนาน ดังนั้นการเกษตรของไทยในอนาคตจะต้องเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนรูปแบบจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่ง EECi ได้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ระบบ high throughput phenotyping screening ในระดับโรงเรือนและระดับภาคสนาม เป็นระบบตรวจสอบการทำงานของพืชที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ระบบ Plant factory เน้นการประยุกต์เพื่อพัฒนาต้นแบบและ การสาธิตเทคโนโลยีการผลิตพืชมูลค่าสูงในระบบโรงเรือนแบบปิด การจัดตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะStartups ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อกระจายองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรในวงกว้าง ที่ช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกนวัตกรรมทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ในอนาคต


2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นทุนเดิม ซึ่งการแปรรูปวัสดุทางการเกษตรมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจได้มากถึง 3 รูปแบบ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

โดยในพื้นที่เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ของ EECi ได้มีโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefienry Pilot Plan) เพื่อมามาผลักดันให้ผลงานวิจัยได้รับการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างก้าวกระโดด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย


3. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมักต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านนี้จากต่างชาติ EECi จึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ เช่น สร้างต้นแบบหุ่นยนต์และจักรกลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) VR (Viitual Reality) และ AI (Artificial Intelligence) เพื่อนำใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมด้านการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศทั้งด้านการเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมและการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการวิจัยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโมดูลด้านระบบอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต และยานพาหนะไร้คนขับ

4. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่

ในอนาคตอันใกล้นี้ รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปอย่างเลี่ยงไม่ได้ EECi จึงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ทดสอบแบตเตอรีประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสำหรับการใช้งานใน AGV UAV/Drone และแบตเตอรีขนาดกลางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า ไปจนกระทั่งระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและระบบการควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์

5. การบินและอวกาศ

ความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยส่งผลให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตและพัฒนาอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดย EECi ได้กำหนดแผนที่นำทางสำหรับเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศแล้ว ด้วยการทยอยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เช่น เทคโนโลยีวิศวกรรมการประกอบชิ้นส่วนการบินและอวกาศ ไปจนถึงการทดสอบการใช้งานอากาศยานไร้คนขับในสภาวะจริง และศูนย์ฝึกอบรม Drone/UAV ภายใต้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไปจนถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ในพื้นที่ Sandbox ของ EECi

6. เครื่องมือแพทย์

การสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้ EECi เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นอนาคตของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม “วังจันทร์วัลเลย์” พร้อมแล้วที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ ที่รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ บนทำเลศักยภาพในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พร้อมด้วยสิทธิพิเศษมากมายแก่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย ฯลฯ

มาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกันกับเรา ที่ “วังจันทร์วัลเลย์